วันพฤหัสบดีที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

พิธีรับมอบเครื่องมือแพทย์ จากมูลนิธิเพื่อโรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์

มูลนิธิเพื่อโรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์ 
กิจกรรมเดิน วิ่ง ปั่น เพื่อชีวิต
บริจาคเงิน 1,000,000 บาท
สมทบจัดซื้อ
- เตียงผู้ป่วยแบบไฟฟ้า ราวสไลด์ 13 เตียง
- อุปกรณ์ชุดตรวจอวัยวะภายใน 1 ชุด
ให้โรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์ ในวันที่ 22 ธันวาคม 2559





มูลนิธิเพื่อโรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์
บริจาคเงิน 985,518 บาท
สมทบจัดซื้อ
- เครื่องช่วยหายใจชนิดควบคุมด้วยปริมาตรและความดัน 1 เครื่อง
- เครื่องวัดและติดตามความอิ่มตัวของออกซิเจนในเลือดและชีพจร 1 เครื่อง
- เตียงผู้ป่วยชนิดสามไก ปรับด้วยไฟฟ้า ราวปีกนก 2 เตียง
ให้โรงพยาบาลนราธิวาสราชนคริทร์ ในวันที่ 22 ธันวาคม 2559



วันพุธที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2558

ประมวลภาพกิจกรรม


สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดอาคารอุบัติเหตุฉุกเฉิน



บริจาคเงินเพื่อจัดซื้อเครื่องล้างจาน
โรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์



บริจาคเงินสมทบจัดซื้อเครื่องกระตุกหัวใจ
โรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์



จัดโครงการ เดิน วิ่ง ปั่น เพื่อชีวิต

เพื่อจัดหาทุนซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์

วันจันทร์ที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2558

ข้อบังคับมูลนิธิเพื่อโรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์

ข้อบังคับ
เพื่อมูลนิธิโรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์
......................................................
หมวดที่  1
ชื่อเครื่องหมายและสำนักงานที่ตั้ง

ข้อ  1    มูลนิธินี้ชื่อว่า  มูลนิธิเพื่อโรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์  ย่อว่า  ม.ร.น.ธ.
เรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า  “FOUNDATION  FOR  NARADHIWAS  RAJANGARINDR  HOSPOTAL”
ข้อ 2     เครื่องหมายของมูลนิธินี้  คือ  งู  2  ตัว พันคบเพลิงมีปีก  ภายในวงกลมชั้นในมีชื่อมูลนิธิเพื่อโรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์  ล้อมรอบอยู่ในวงกลมชั้นนอก  (ตามรูปที่ปรากฏด้านล่างนี้)



ข้อ 3     สำนักงานของมูลนิธิตั้งอยู่ที่  บ้านพักโรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์
          เลขที่  180/88  ถนนระแงะมรรคา  ตำบลบางนาค  อำเภอเมือง  จังหวัดนราธิวาส
          โทร  073-511379   โทรสาร  073-513481

  
หมวดที่  2
วัตถุประสงค์

ข้อ  4   วัตถุประสงค์ของมูลนิธินี้  คือ
          4.1  เพื่อเป็นทุนจัดหาอุปกรณ์การแพทย์ในโรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์
4.2  เพื่อเป็นทุนส่งเสริมในการศึกษา  ค้นคว้า  และวิจัยในทางการแพทย์ของโรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์
4.3  เพื่อเป็นทุนส่งเสริมการป้องกันและรักษาโรคของประชาชนที่มีรายได้น้อย
4.4  เพื่อเป็นทุนส่งเสริมและให้รางวัลแก่เจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานดีเด่นของโรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์
4.5  เพื่อดำเนินการเพื่อสาธารณประโยชน์หรือร่วมมือกับองค์กรการกุศลอื่นๆ  เพื่อสาธารณประโยชน์
4.6  เพื่อเป็นทุนการศึกษาแก่บุตร  ธิดาของบุคลากรโรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์  ที่มีผลการเรียนดี  ขาดแคลนทุนทรัพย์
4.7  เพื่อสนับสนุนกิจกรรมตามโครงการพระราชดำริของบรมวงศานุวงศ์
4.8  ไม่ดำเนินการเกี่ยวข้องกับการเมืองแต่ประการใด
ฯลฯ

หมายเหตุ            กรณีมูลนิธิต้องการดำเนินการเกี่ยวกับการเมืองต้องไม่ระบุวัตถุประสงค์  เพื่อการกุศลสาธารณะ  และให้ระบุวัตถุประสงค์แทน  ไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมือง”  ว่า  เพื่อส่งเสริมการปกครองในระบอบประชาธิปไตย  อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขด้วยความเป็นกลาง  และไม่ให้การสนับสนุนด้านการเงินหรือทรัพย์สินแก่นักการเมือง  หรือพรรคการเมืองใด


หมวดที่  3
ทุนทรัพย์  ทรัพย์สิน  และการได้มาซึ่งทรัพย์สิน

ข้อ  5   ทรัพย์สินของมูลนิธิมีทุนเริ่มแรก  คือ
          5.1  เงินสด  จำนวน  300,000.-  บาท  (สามแสนบาทถ้วน)
ข้อ  6   มูลนิธิอาจได้มาซึ่งทรัพย์สินโดยวิธีต่อไปนี้
6.1  เงินหรือทรัพย์สินที่มีผู้ยกให้โดยพินัยกรรมหรือนิติกรรมอื่นๆ  โดยมิได้มีเงื่อนไขผูกพันให้มูลนิธิต้องรับผิดชอบในหนี้สิน  หรือภาระติดพันอื่นใด
6.2  เงินหรือทรัพย์สินที่มีผู้มีจิตศรัทธาบริจาคให้
6.3  ดอกผลซึ่งเกิดจากทรัพย์สินของมูลนิธิ
6.4  รายได้อันเกิดจากการจัดกิจกรรมของมูลนิธิ


หมวดที่  4
คุณสมบัติ  และการพ้นจากตำแหน่งของกรรมการ

ข้อ  7   กรรมการของมูลนิธิต้องมีคุณสมบัติดังนี้
          7.1  มีอายุไม่ต่ำกว่า  20  ปี  บริบูรณ์
          7.2  ไม่เป็นบุคคลล้มละลาย  หรือไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้ความสามารถ
          7.3  ไม่เป็นผู้ต้องคำพิพากษาให้จำคุก  เว้นแต่จะได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ
ข้อ  8   กรรมการของมูลนิธิพ้นจากตำแหน่งเมื่อ
          8.1  ถึงคราวออกตามวาระ
          8.2  ตายหรือลาออก
          8.3  ขาดคุณสมบัติตามข้อบังคับข้อ  7
8.4  เป็นผู้มีความประพฤติและปฏิบัติตนเป็นที่เสื่อมเสีย  และคณะกรรมการมูลนิธิมีมติให้ออก  โดยมีคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสามในสี่ของคณะกรรมการมูลนิธิ


หมวดที่  5
การดำเนินงานของคณะกรรมการมูลนิธิ

ข้อ  9   มูลนิธิดำเนินการโดยคณะกรรมการมูลนิธิ  มีจำนวนไม่น้อยกว่า  9  คน  แต่ไม่เกิน  15  คน
ข้อ  10 คณะกรรมการของมูลนิธิ  ประกอบด้วย  ประธานกรรมการมูลนิธิ  รองประธานกรรมการมูลนิธิ  เลขานุการมูลนิธิ  เหรัญญิก  และกรรมการอื่นๆ  ตามที่เห็นสมควร  ตามข้อบังคับ  ข้อ  9
ข้อ  11 วิธีเลือกตั้งกรรมการมูลนิธิให้ปฏิบัติดังนี้
          ให้คณะกรรมการมูลนิธิชุดที่ดำรงตำแหน่งอยู่  เลือกตั้งประธานกรรมการมูลนิธิและกรรมการอื่นๆ  ตามจำนวนที่เห็นสมควรตามข้อบังคับ
ข้อ  12 กรรมการดำเนินงานมูลนิธิอยู่ในตำแหน่งคราวละ  4  ปี
ข้อ  13 การเลือกตั้งคณะกรรมการมูลนิธิ  ให้ถือเสียงข้างมากของที่ประชุมคณะกรรมการมูลนิธิ  เป็นมติของที่ประชุม
ข้อ  14 กรรมการมูลนิธิที่พ้นจากตำแหน่งตามวาระ  อาจได้รับเลือกเข้าเป็นกรรมการมูลนิธิได้อีก
ข้อ  15 ในกรณีกรรมการของมูลนิธิพ้นจากตำแหน่งให้กรรมการของมูลนิธิที่พ้นจากตำแหน่ง  ปฏิบัติหน้าที่กรรมการของมูลนิธิต่อไปจนกว่ามูลนิธิจะได้รับแจ้งการจดทะเบียนกรรมการของมูลนิธิที่ตั้งใหม่


หมวดที่  6
อำนาจหน้าที่คณะกรรมการมูลนิธิ

ข้อ  16 คณะกรรมการมูลนิธิมีอำนาจหน้าที่ในการดำเนินกิจการของมูลนิธิตามวัตถุประสงค์ของมูลนิธิและภายใต้ข้อบังคับนี้  ให้มีอำนาจหน้าที่ต่างๆ  ดังต่อไปนี้
          16.1    กำหนดนโยบายของมูลนิธิและดำเนินงานตามนโยบายนั้น
          16.2    ควบคุมการเงินและทรัพย์สินต่างๆ  ของมูลนิธิ
          16.3    เสนอรายงานกิจการ  รายงานการเงิน  และบัญชีงบดุลรายได้รายจ่ายต่อกระทรวงมหาดไทย
          16.4    ดำเนินการให้เป็นไปตามมติที่ประชุมคณะกรรมการมูลนิธิและวัตถุประสงค์ของข้อบังคับนี้
          16.5    ตราระเบียบเกี่ยวกับการดำเนินกิจการของมูลนิธิ
16.6    แต่งตั้งหรือถอดถอนคณะอนุกรรมการขึ้นคณะหนึ่ง  หรือหลายคณะเพื่อดำเนินการเฉพาะอย่างของมูลนิธิ  ภายใต้การควบคุมของคณะกรรมการมูลนิธิ
16.7    เชิญผู้ทรงคุณวุฒิ  หรือบุคคลที่ทำประโยชน์ให้มูลนิธิเป็นพิเศษเป็นกรรมการกิตติมศักดิ์
16.8    เชิญผู้ทรงเกียรติเป็นผู้อุปถัมภ์มูลนิธิ
16.9    เชิญผู้ทรงคุณวุฒิเป็นที่ปรึกษาของคณะกรรมการมูลนิธิ
16.10   แต่งตั้งหรือถอดถอนเจ้าหน้าที่ประจำของมูลนิธิ  มติให้ดำเนินการตามข้อ 16.7,16.8  และ  16.9  ต้องเป็นมติเสียงข้างมากของที่ประชุม  และที่ปรึกษาตามข้อ  16.9  ย่อมเป็นที่ปรึกษาของคณะกรรมการมูลนิธิที่เชิญเท่านั้น
ข้อ  17 ประธานกรรมการมูลนิธิมีอำนาจหน้าที่ดังนี้
          17.1    เป็นประธานของการประชุมคณะกรรมการมูลนิธิ
          17.2    สั่งเรียกประชุมคณะกรรมการมูลนิธิ
17.3    เป็นผู้แทนของมูลนิธิในการติดต่อกับบุคคลภายนอก  หรือการลงลายมือชื่อในเอกสารข้อบังคับ  และสรรพหนังสืออันเป็นหลักฐานของมูลนิธิ  เมื่อประธานกรรมการมูลนิธิ  หรือกรรมการมูลนิธิผู้ได้รับมอบหมายให้ทำการแทนได้ลงลายมือชื่อแล้วจึงเป็นอันใช้ได้
17.4    ปฏิบัติการอื่นๆ  ตามข้อบังคับ  และมติของคณะกรรมการมูลนิธิ
ข้อ  18 ให้รองประธานกรรมการมูลนิธิ  ทำหน้าที่แทนประธานกรรมการมูลนิธิ  เมื่อประธานไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้  หรือในกรณีที่ประธานมอบหมายให้ทำการแทน
ข้อ  19 ถ้าประธานกรรมการมูลนิธิและรองประธานกรรมการมูลนิธิไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ในการประชุมคราวหนึ่งคราวใดได้  ให้ที่ประชุมเลือกตั้งคณะกรรมการมูลนิธิคนใดคนหนึ่งเป็นประธานสำหรับการประชุมคราวนั้น
ข้อ  20 เลขานุการมูลนิธิมีหน้าที่ควบคุมกิจการ  และดำเนินการประชุมของมูลนิธิติดต่อประสานงานทั่วไปรักษาระเบียบข้อบังคับของมูลนิธิ  นัดประชุมกรรมการ  ตามคำสั่งของประธานกรรมการมูลนิธิ  และทำรายงานการประชุม  ตลอดจนรายงานกิจการมูลนิธิ
ข้อ  21 เหรัญญิกมีหน้าที่ควบคุมการเงิน  ทรัพย์สินของมูลนิธิตลอดจนบัญชี  และเอกสารที่เกี่ยวข้องให้ถูกต้องและเป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการมูลนิธิกำหนด
ข้อ  22 สำหรับกรรมการตำแหน่งอื่นๆ ให้มีหน้าที่ตามที่คณะกรรมการมูลนิธิกำหนดโดยทำเป็นคำสั่งระบุอำนาจหน้าที่ให้ชัดเจน
ข้อ  23 คณะกรรมการมูลนิธิมีสิทธิ์เข้าร่วมประชุมกรรมการ  หรืออนุกรรมการอื่นๆ  ของมูลนิธิได้


หมวดที่  7
อนุกรรมการ

ข้อ  24 คณะกรรมการมูลนิธิอาจแต่งตั้งหรือถอดถอนอนุกรรมการได้ตามความเหมาะสม  โดยจะแต่งตั้งให้เป็นอนุกรรมการประจำหรือเพื่อการใดเป็นกรณีพิเศษเฉพาะคราวก็ได้และในกรณีที่คณะกรรมการมูลนิธิไม่ได้แต่งตั้งประธานอนุกรรมการเลขานุการหรืออนุกรรมการในตำแหน่งอื่นไว้ก็ให้อนุกรรมการแต่งตั้งกันเองดำรงตำแหน่งดังกล่าวได้
ข้อ  25 อนุกรรมการอยู่ในตำแหน่งจนกว่าจะเสร็จงานที่ได้รับมอบหมายให้กระทำส่วนคณะอนุกรรมการประจำอยู่ในตำแหน่งตามเวลาที่คณะกรรมการมูลนิธิ  กำหนดซึ่งถ้ามิได้กำหนดไว้ก็ให้อยู่ในตำแหน่งได้เพียงเท่าวาระของคณะกรรมการมูลนิธิซึ่งเป็นผู้แต่งตั้งและอนุกรรมการที่พ้นจากตำแหน่งอาจได้รับการแต่งตั้งอีกได้
          25.1    อนุกรรมการมีหน้าที่ดำเนินการตามที่คณะกรรมการมูลนิธิมอบหมาย
          25.2    อนุกรรมการมีหน้าที่เสนอความคิดเห็นต่อคณะกรรมการมูลนิธิเกี่ยวกับงานที่ได้รับมอบหมาย


หมวดที่  8
การประชุมคณะกรรมการมูลนิธิ

ข้อ  26 คณะกรรมการมูลนิธิจะต้องจัดให้มีการประชุมสามัญประจำปีทุกๆ ปีภายในเดือนมีนาคม  และต้องมีคณะกรรมการมูลนิธิเข้าประชุมอย่างน้อยกึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมดจึงจะเป็นองค์ประชุม
ข้อ  27 การประชุมวิสามัญอาจมีได้ในเมื่อประธานกรรมการมูลนิธิหรือเมื่อคณะกรรมการมูลนิธิตั้งแต่  2  คนขึ้นไป  แสดงความประสงค์ไปยังประธานกรรมการมูลนิธิหรือผู้ทำการแทนขอให้มีการประชุม  ก็ให้เรียกประชุมวิสามัญได้
ข้อ  28 กำหนดการประชุม  และองค์ประชุมของคณะอนุกรรมการให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการมูลนิธิกำหนดไว้ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการประชุม  ให้คณะอนุกรรมการตกลงกันเองและในส่วนที่เกี่ยวข้องกับองค์ประชุม  ให้ใช้ข้อ  27  บังคับโดยอนุโลม
ข้อ  29 ในการประชุมคณะกรรมการมูลนิธิ  หรือคณะอนุกรรมการ  หากมิได้มีข้อบังคับกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น  มติของที่ประชุมให้ถือเอาคะแนนเสียงข้างมากในกรณีที่มีคะแนนเสียงเท่ากันให้ประธานในที่ประชุมเป็นผู้ชี้ขาดกิจการใดที่เป็นงานประจำหรือเป็นกิจการเล็กน้อยประธานกรรมการมูลนิธิมีอำนาจสั่งให้ใช้วิธีสอบถามมติทางหนังสือแทนการเรียกประชุมคณะกรรมการมูลนิธิ  แต่ประธานกรรมการมูลนิธิต้องรายงานต่อที่ประชุมคณะกรรมการมูลนิธิในคราวต่อไปถึงมติและกิจการที่ได้ดำเนินการไปตามมตินั้น  กิจการใดเป็นงานประจำหรือเป็นกิจการเล็กน้อยหรือไม่  ย่อมอยู่ในดุลพินิจของประธานกรรมการมูลนิธิ
ข้อ  30 ในการประชุมคณะกรรมการมูลนิธิหรือคณะอนุกรรมการ  ประธานกรรมการมูลนิธิ  หรือประธานที่ประชุมมีอำนาจเชิญหรืออนุญาตให้บุคคลที่เห็นสมควรเข้าร่วมประชุมในฐานะแขกผู้มีเกียรติหรือผู้สังเกตการณ์หรือเพื่อชี้แจง  หรือเพื่อให้คำปรึกษาแก่ที่ประชุมได้


หมวดที่  9
การเงิน

ข้อ  31 ประธานกรรมการมูลนิธิหรือรองประธานกรรมการมูลนิธิในกรณีทำหน้าที่แทนมีอำนาจสั่งจ่ายเงินได้คราวละไม่เกิน  50,000.-  บาท  (ห้าหมื่นบาทถ้วน)  ถ้าเกินกว่าจำนวนดังกล่าวต้องได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการมูลนิธิโดยเสียงข้างมากเว้นแต่กรณีจำเป็นและเร่งด่วนให้อยู่ในดุลพินิจของประธานกรรมการมูลนิธิที่จะอนุมัติให้จ่ายได้แล้วต้องรายงานให้คณะกรรมการมูลนิธิทราบในการประชุมคราวต่อไป
ข้อ  32 เหรัญญิกมีอำนาจเก็บรักษาเงินสดได้ครั้งละไม่เกิน  20,000.-  บาท  (สองหมื่นบาทถ้วน)
ข้อ  33 เงินสดของมูลนิธินำฝากไว้กับธนาคาร  หรือสถาบันการเงินอื่นใดที่รัฐบาลให้การค้ำประกันแล้วแต่คณะกรรมการมูลนิธิจะเห็นสมควร
ข้อ  34 การสั่งจ่ายเงินโดยเช็คหรือตั๋วสั่งจ่ายเงินจะต้องมีลายมือชื่อของประธานกรรมการมูลนิธิหรือผู้ทำการแทนกับเลขานุการหรือเหรัญญิกลงนามทุกครั้ง  จึงจะเบิกจ่ายได้
ข้อ  35 การใช้จ่ายเงินตามวัตถุประสงค์ของมูลนิธิของมูลนิธิรวมทั้งค่าใช้จ่ายประจำสำนักงานให้จ่ายเพียงดอกผลอันเกิดจากทรัพย์สินที่เป็นทุนเงินที่ผู้บริจาคมิได้แสดงเจตนาให้เป็นเงินสมทบทุนโดยเฉพาะและหรือรายได้อันเกิดจากการจัดกิจกรรมของมูลนิธิหรือเงินที่ผู้มีจิตศรัทธาบริจาคให้เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายตามวัตถุประสงค์
ข้อ  36 ให้คณะกรรมการมูลนิธิวางระเบียบเกี่ยวกับการเงินการบัญชีและทรัพย์สินของมูลนิธิ  ตลอดจนกำหนดอำนาจหน้าที่ต่างๆ เกี่ยวกับการรับและจ่ายเงินนอกเหนือจากที่กำหนดไว้ในข้อบังคับ
ข้อ  37 ให้คณะกรรมการมูลนิธิกำหนดรอบระยะเวลาบัญชี  และจัดทำรายงานสถานะการเงินของมูลนิธิในรอบระยะเวลาบัญชีที่ผ่านมาเสนอต่อที่ประชุมในการประชุมสามัญประจำปี


หมวดที่  10
การแก้ไขเพิ่มเติมข้อบังคับ

ข้อ  38 การแก้ไขเพิ่มเติมข้อบังคับจะกระทำได้  โดยเฉพาะที่ประชุมคณะกรรมการมูลนิธิซึ่งต้องมีกรรมการมูลนิธิเข้าประชุมไม่น้อยกว่าสามในสี่ของจำนวนกรรมการทั้งหมด  และการอนุมัติให้แก้ไขหรือเพิ่มเติมข้อบังคับต้องประกอบด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนกรรมการที่เข้าประชุม


หมวดที่  11
การเลิกมูลนิธิ

ข้อ  39 ถ้ามูลนิธิต้องเลิกล้มไปโดยมติของคณะกรรมการ  หรือโดยเหตุใดก็ตามทรัพย์สินทั้งหมดของมูลนิธิที่เหลืออยู่ให้ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของโรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์
ข้อ  40 การสิ้นสุดมูลนิธินั้น  นอกจากที่กฎหมายบัญญัติไว้แล้วให้มูลนิธิเป็นอันสิ้นสุดลงโดยมิต้องให้ศาลสั่งเลิกด้วยเหตุต่อไปนี้
          40.1    เมื่อมูลนิธิได้รับอนุญาตให้จดทะเบียนจัดตั้งเป็นนิติบุคคลแล้วไม่ได้รับทรัพย์สินตามคำมั่นเต็มจำนวน
          40.2    เมื่อกรรมการมูลนิธิจำนวนสองในสามมีมติให้ยกเลิก
          40.3    เมื่อมูลนิธิไม่อาจหากรรมการได้ครบตามจำนวนกรรมการที่กำหนดไว้ในข้อบังคับ
          40.4    เมื่อมูลนิธิไม่สามารถดำเนินการต่อไปได้ไม่ว่าด้วยเหตุผลใดๆ


หมวดที่  12
บทเบ็ดเตล็ด

ข้อ  41 การตีความในข้อบังคับของมูลนิธิ  หากเป็นที่สงสัยให้คณะกรรมการมูลนิธิโดยเสียงข้างมากของจำนวนกรรมการที่มีอยู่เป็นผู้ชี้ขาด
ข้อ  42 ให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยมูลนิธิมาใช้บังคับ  ในเมื่อข้อบังคับของมูลนิธิมิได้กำหนดไว้
ข้อ  43 มูลนิธิต้องไม่ดำเนินการหาผลประโยชน์มาแบ่งปันกัน  หรือเพื่อบุคคลใด  นอกจากเพื่อดำเนินการตามวัตถุประสงค์ของมูลนิธินั้นเอง
         
ลงชื่อ    จำลอง  รัตนพันธ์      ผู้จัดทำข้อบังคับ
       (นายจำลอง  รัตนพันธ์)  

รายชื่อคณะกรรมการผู้ก่อตั้งมูลนิธิเพื่อโรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์

ลำดับที่           ชื่อ  -  สกุล                                   ตำแหน่ง
   ๑.    นายวิรุฬห์        พรพัฒน์กุล                  ผู้อำนวยการโรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์
   ๒.    นายตะวัน        เพชรรัตน์                    รองอัยการจังหวัดนราธิวาส
   ๓.    นายพีระพงษ์     ภาวสุทธิไพศิฐ              รองผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์
   ๔.    นายจำลอง       รัตนพันธ์                     รองผู้อำนวยการฝ่ายบริหาร
   ๕.    นางกัลยา         สิทธิบุศย์                     หัวหน้าพยาบาล
   ๖.    นางรพีภรณ์      ไหมใจดี                      หัวหน้าฝ่ายการเงินและพัสดุ
   ๗.    นายวิทยา        รัตนะ                         หัวหน้าฝ่ายบริหารทั่วไป



รายชื่อคณะกรรมการดำเนินงาน

๑.       นายฉัตรชัย       ศรีนามวงศ์                  ประธานกรรมการ
๒.       นายบรรยง       เหล่าเจริญสุข                กรรมการ
๓.       นางวราภรณ์     จินตานนท์                   กรรมการ
๔.       นางเบญจวรรณ  ทันประจำสินธุ์             กรรมการ
๕.       นางนันทิยา      รัตนสกุล                     กรรมการ
๖.       นางสาววิพร      พลพรพิสิฐ                  กรรมการ
๗.       นางทัดเดือน      ภาวสุทธิไพศิฐ             กรรมการ
๘.       นายชัยเจริญ     อำนวยพาณิชย์             กรรมการ
๙.       นายวานิช        รัตนเหม                     กรรมการ
๑๐.   นางรจิต          พัฒนภักดี                    กรรมการ

ประวัติการก่อตั้งมูลนิธิเพื่อโรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์

      ในโอกาสที่โรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์ มีอายุครบรอบ  ๖๙ ปี  ตั้งแต่วันที่  ๒๔  มิถุนายน ๒๔๘๔  เดิมมีชื่อเรียกว่าโรงพยาบาลนราธิวาส  โดยมีภารกิจหลักในการป้องกัน  บำบัดรักษา  และฟื้นฟูผู้เจ็บป่วยที่มาขอรับบริจาคจากทางโรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์ อย่างต่อเนื่อง  ทั้งในกรณีที่เจ็บป่วยปกติ และเกิดการเจ็บป่วยจากสถานการณ์วิกฤติก็ตามได้เพิ่มจำนวนผู้ป่วยมากขึ้นเป็นลำดับ  จากโรงพยาบาลทั่วไปขนาด  ๓๒๐  เตียง  ขยายเป็นโรงพยาบาลศูนย์ขนาด  ๓๘๐  เตียง  และ  ๔๐๐  เตียงในอนาคตอันใกล้นี้  และเป็นภาระที่หนักขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดหาทุนเพื่อรองรับการให้บริการแก่ผู้ป่วยยากจนขาดทุนทรัพย์  ถึงแม้ว่าทางรัฐบาลจะมีการสนับสนุนเงินงบประมาณแก่ผู้ด้อยโอกาสทางสังคมบางส่วนแล้วก็ตาม  แต่ก็ยังไม่เพียงพอในส่วนของเงินบำรุงโรงพยาบาลที่มีอยู่  จะนำมาใช้เพื่ออำนวยความสะดวกทางการรักษาพยาบาลแก่ผู้ด้อยโอกาสดังกล่าว  ก็ตกภายในกฎระเบียบทางการใช้เงินมากมาย ไม่สามารถสนับสนุนและให้ความช่วยเหลือผู้เจ็บป่วยอย่างรวดเร็วทันท่วงทีในการดูแลการเจ็บป่วยแก่ประชาชนโดยทั่วไป
      คณะกรรมการบริหารโรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์  โดยนายแพทย์วิรุฬห์  พรพัฒน์กุล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์  ได้รับการพิจารณาจัดตั้งกองทุนขึ้นมาเพื่อรับบริจาคทุนทรัพย์ประเภทเงินสนับสนุนไว้สำหรับช่วยเหลือผู้ได้รับบาดเจ็บและได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อันไม่สงบ  ซึ่งจำเป็นจะต้องใช้งบประมาณดำเนินการโดยเร่งด่วนและได้มองเห็นว่า  ผู้อำนวยการโรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์ท่านเดิม  นายแพทย์สุทัศน์  ศรีวิไล  ได้มีโครงการบริจาคเงินจากผู้มีจิตศรัทธาสนับสนุนกิจการภายในโรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์ขึ้นภายใต้ชื่อ  โครงการเพื่อนช่วยเพื่อนเพื่อโรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์ จัดหารายได้สนับสนุนกิจการในโรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์ แสดงออกซึ่งความสามัคคี สนับสนุนให้เกิดความสงบใน  ๓  จังหวัดชายแดนภาคใต้  โดยมีแกนนำในส่วนกลาง ประกอบด้วย  นายแพทย์บุญ  วนาสิน  ที่ปรึกษาโครงการ  นายแพทย์เหลือพร  ปุณณกัณต์  ประธานโครงการร่วมมือของสมาคมโรงพยาบาลเอกชนในกรุงเทพฯ  บริษัทกรุงไทยเครดิตการ์ด  จำกัด  (มหาชน)  สถานีโทรทัศน์ช่อง  ๗ นอกจากนี้  ยังได้รับความร่วมมือจากกรุงเทพมหานคร  โดยคุณหญิงณฐนนท  ทวีสิน  ปลัดกรุงเทพมหานคร สนับสนุนพื้นที่รับบริจาค  ณ  สำนักอำนวยการสวนจตุจักร  โดยไม่คิดมูลค่าในการใช้พื้นที่ตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเดือนมิถุนายน  ๒๕๔๙  ทำให้มีเงินกองทุนมากกว่า  ๒  ล้านบาท
      ทั้งนี้  คณะกรรมการบริหารโรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์  และคณะกรรมการสวัสดิการโรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์  จึงมีความเห็นชอบในการจัดตั้งเป็นมูลนิธิเพื่อโรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์  ดังกล่าวขึ้น  เพื่อจะได้นำเงินที่ได้รับบริจาคไปให้การสนับสนุนกิจกรรมในการดูแลผู้ป่วยและเจ้าหน้าที่ให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ต่อไป

                                                          ลงชื่อ  วิรุฬห์  พรพัฒน์กุล  ประธานกรรมการมูลนิธิฯ
                                                                          (นายวิรุฬห์  พรพัฒน์กุล)