วันจันทร์ที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2558

ข้อบังคับมูลนิธิเพื่อโรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์

ข้อบังคับ
เพื่อมูลนิธิโรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์
......................................................
หมวดที่  1
ชื่อเครื่องหมายและสำนักงานที่ตั้ง

ข้อ  1    มูลนิธินี้ชื่อว่า  มูลนิธิเพื่อโรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์  ย่อว่า  ม.ร.น.ธ.
เรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า  “FOUNDATION  FOR  NARADHIWAS  RAJANGARINDR  HOSPOTAL”
ข้อ 2     เครื่องหมายของมูลนิธินี้  คือ  งู  2  ตัว พันคบเพลิงมีปีก  ภายในวงกลมชั้นในมีชื่อมูลนิธิเพื่อโรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์  ล้อมรอบอยู่ในวงกลมชั้นนอก  (ตามรูปที่ปรากฏด้านล่างนี้)



ข้อ 3     สำนักงานของมูลนิธิตั้งอยู่ที่  บ้านพักโรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์
          เลขที่  180/88  ถนนระแงะมรรคา  ตำบลบางนาค  อำเภอเมือง  จังหวัดนราธิวาส
          โทร  073-511379   โทรสาร  073-513481

  
หมวดที่  2
วัตถุประสงค์

ข้อ  4   วัตถุประสงค์ของมูลนิธินี้  คือ
          4.1  เพื่อเป็นทุนจัดหาอุปกรณ์การแพทย์ในโรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์
4.2  เพื่อเป็นทุนส่งเสริมในการศึกษา  ค้นคว้า  และวิจัยในทางการแพทย์ของโรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์
4.3  เพื่อเป็นทุนส่งเสริมการป้องกันและรักษาโรคของประชาชนที่มีรายได้น้อย
4.4  เพื่อเป็นทุนส่งเสริมและให้รางวัลแก่เจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานดีเด่นของโรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์
4.5  เพื่อดำเนินการเพื่อสาธารณประโยชน์หรือร่วมมือกับองค์กรการกุศลอื่นๆ  เพื่อสาธารณประโยชน์
4.6  เพื่อเป็นทุนการศึกษาแก่บุตร  ธิดาของบุคลากรโรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์  ที่มีผลการเรียนดี  ขาดแคลนทุนทรัพย์
4.7  เพื่อสนับสนุนกิจกรรมตามโครงการพระราชดำริของบรมวงศานุวงศ์
4.8  ไม่ดำเนินการเกี่ยวข้องกับการเมืองแต่ประการใด
ฯลฯ

หมายเหตุ            กรณีมูลนิธิต้องการดำเนินการเกี่ยวกับการเมืองต้องไม่ระบุวัตถุประสงค์  เพื่อการกุศลสาธารณะ  และให้ระบุวัตถุประสงค์แทน  ไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมือง”  ว่า  เพื่อส่งเสริมการปกครองในระบอบประชาธิปไตย  อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขด้วยความเป็นกลาง  และไม่ให้การสนับสนุนด้านการเงินหรือทรัพย์สินแก่นักการเมือง  หรือพรรคการเมืองใด


หมวดที่  3
ทุนทรัพย์  ทรัพย์สิน  และการได้มาซึ่งทรัพย์สิน

ข้อ  5   ทรัพย์สินของมูลนิธิมีทุนเริ่มแรก  คือ
          5.1  เงินสด  จำนวน  300,000.-  บาท  (สามแสนบาทถ้วน)
ข้อ  6   มูลนิธิอาจได้มาซึ่งทรัพย์สินโดยวิธีต่อไปนี้
6.1  เงินหรือทรัพย์สินที่มีผู้ยกให้โดยพินัยกรรมหรือนิติกรรมอื่นๆ  โดยมิได้มีเงื่อนไขผูกพันให้มูลนิธิต้องรับผิดชอบในหนี้สิน  หรือภาระติดพันอื่นใด
6.2  เงินหรือทรัพย์สินที่มีผู้มีจิตศรัทธาบริจาคให้
6.3  ดอกผลซึ่งเกิดจากทรัพย์สินของมูลนิธิ
6.4  รายได้อันเกิดจากการจัดกิจกรรมของมูลนิธิ


หมวดที่  4
คุณสมบัติ  และการพ้นจากตำแหน่งของกรรมการ

ข้อ  7   กรรมการของมูลนิธิต้องมีคุณสมบัติดังนี้
          7.1  มีอายุไม่ต่ำกว่า  20  ปี  บริบูรณ์
          7.2  ไม่เป็นบุคคลล้มละลาย  หรือไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้ความสามารถ
          7.3  ไม่เป็นผู้ต้องคำพิพากษาให้จำคุก  เว้นแต่จะได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ
ข้อ  8   กรรมการของมูลนิธิพ้นจากตำแหน่งเมื่อ
          8.1  ถึงคราวออกตามวาระ
          8.2  ตายหรือลาออก
          8.3  ขาดคุณสมบัติตามข้อบังคับข้อ  7
8.4  เป็นผู้มีความประพฤติและปฏิบัติตนเป็นที่เสื่อมเสีย  และคณะกรรมการมูลนิธิมีมติให้ออก  โดยมีคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสามในสี่ของคณะกรรมการมูลนิธิ


หมวดที่  5
การดำเนินงานของคณะกรรมการมูลนิธิ

ข้อ  9   มูลนิธิดำเนินการโดยคณะกรรมการมูลนิธิ  มีจำนวนไม่น้อยกว่า  9  คน  แต่ไม่เกิน  15  คน
ข้อ  10 คณะกรรมการของมูลนิธิ  ประกอบด้วย  ประธานกรรมการมูลนิธิ  รองประธานกรรมการมูลนิธิ  เลขานุการมูลนิธิ  เหรัญญิก  และกรรมการอื่นๆ  ตามที่เห็นสมควร  ตามข้อบังคับ  ข้อ  9
ข้อ  11 วิธีเลือกตั้งกรรมการมูลนิธิให้ปฏิบัติดังนี้
          ให้คณะกรรมการมูลนิธิชุดที่ดำรงตำแหน่งอยู่  เลือกตั้งประธานกรรมการมูลนิธิและกรรมการอื่นๆ  ตามจำนวนที่เห็นสมควรตามข้อบังคับ
ข้อ  12 กรรมการดำเนินงานมูลนิธิอยู่ในตำแหน่งคราวละ  4  ปี
ข้อ  13 การเลือกตั้งคณะกรรมการมูลนิธิ  ให้ถือเสียงข้างมากของที่ประชุมคณะกรรมการมูลนิธิ  เป็นมติของที่ประชุม
ข้อ  14 กรรมการมูลนิธิที่พ้นจากตำแหน่งตามวาระ  อาจได้รับเลือกเข้าเป็นกรรมการมูลนิธิได้อีก
ข้อ  15 ในกรณีกรรมการของมูลนิธิพ้นจากตำแหน่งให้กรรมการของมูลนิธิที่พ้นจากตำแหน่ง  ปฏิบัติหน้าที่กรรมการของมูลนิธิต่อไปจนกว่ามูลนิธิจะได้รับแจ้งการจดทะเบียนกรรมการของมูลนิธิที่ตั้งใหม่


หมวดที่  6
อำนาจหน้าที่คณะกรรมการมูลนิธิ

ข้อ  16 คณะกรรมการมูลนิธิมีอำนาจหน้าที่ในการดำเนินกิจการของมูลนิธิตามวัตถุประสงค์ของมูลนิธิและภายใต้ข้อบังคับนี้  ให้มีอำนาจหน้าที่ต่างๆ  ดังต่อไปนี้
          16.1    กำหนดนโยบายของมูลนิธิและดำเนินงานตามนโยบายนั้น
          16.2    ควบคุมการเงินและทรัพย์สินต่างๆ  ของมูลนิธิ
          16.3    เสนอรายงานกิจการ  รายงานการเงิน  และบัญชีงบดุลรายได้รายจ่ายต่อกระทรวงมหาดไทย
          16.4    ดำเนินการให้เป็นไปตามมติที่ประชุมคณะกรรมการมูลนิธิและวัตถุประสงค์ของข้อบังคับนี้
          16.5    ตราระเบียบเกี่ยวกับการดำเนินกิจการของมูลนิธิ
16.6    แต่งตั้งหรือถอดถอนคณะอนุกรรมการขึ้นคณะหนึ่ง  หรือหลายคณะเพื่อดำเนินการเฉพาะอย่างของมูลนิธิ  ภายใต้การควบคุมของคณะกรรมการมูลนิธิ
16.7    เชิญผู้ทรงคุณวุฒิ  หรือบุคคลที่ทำประโยชน์ให้มูลนิธิเป็นพิเศษเป็นกรรมการกิตติมศักดิ์
16.8    เชิญผู้ทรงเกียรติเป็นผู้อุปถัมภ์มูลนิธิ
16.9    เชิญผู้ทรงคุณวุฒิเป็นที่ปรึกษาของคณะกรรมการมูลนิธิ
16.10   แต่งตั้งหรือถอดถอนเจ้าหน้าที่ประจำของมูลนิธิ  มติให้ดำเนินการตามข้อ 16.7,16.8  และ  16.9  ต้องเป็นมติเสียงข้างมากของที่ประชุม  และที่ปรึกษาตามข้อ  16.9  ย่อมเป็นที่ปรึกษาของคณะกรรมการมูลนิธิที่เชิญเท่านั้น
ข้อ  17 ประธานกรรมการมูลนิธิมีอำนาจหน้าที่ดังนี้
          17.1    เป็นประธานของการประชุมคณะกรรมการมูลนิธิ
          17.2    สั่งเรียกประชุมคณะกรรมการมูลนิธิ
17.3    เป็นผู้แทนของมูลนิธิในการติดต่อกับบุคคลภายนอก  หรือการลงลายมือชื่อในเอกสารข้อบังคับ  และสรรพหนังสืออันเป็นหลักฐานของมูลนิธิ  เมื่อประธานกรรมการมูลนิธิ  หรือกรรมการมูลนิธิผู้ได้รับมอบหมายให้ทำการแทนได้ลงลายมือชื่อแล้วจึงเป็นอันใช้ได้
17.4    ปฏิบัติการอื่นๆ  ตามข้อบังคับ  และมติของคณะกรรมการมูลนิธิ
ข้อ  18 ให้รองประธานกรรมการมูลนิธิ  ทำหน้าที่แทนประธานกรรมการมูลนิธิ  เมื่อประธานไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้  หรือในกรณีที่ประธานมอบหมายให้ทำการแทน
ข้อ  19 ถ้าประธานกรรมการมูลนิธิและรองประธานกรรมการมูลนิธิไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ในการประชุมคราวหนึ่งคราวใดได้  ให้ที่ประชุมเลือกตั้งคณะกรรมการมูลนิธิคนใดคนหนึ่งเป็นประธานสำหรับการประชุมคราวนั้น
ข้อ  20 เลขานุการมูลนิธิมีหน้าที่ควบคุมกิจการ  และดำเนินการประชุมของมูลนิธิติดต่อประสานงานทั่วไปรักษาระเบียบข้อบังคับของมูลนิธิ  นัดประชุมกรรมการ  ตามคำสั่งของประธานกรรมการมูลนิธิ  และทำรายงานการประชุม  ตลอดจนรายงานกิจการมูลนิธิ
ข้อ  21 เหรัญญิกมีหน้าที่ควบคุมการเงิน  ทรัพย์สินของมูลนิธิตลอดจนบัญชี  และเอกสารที่เกี่ยวข้องให้ถูกต้องและเป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการมูลนิธิกำหนด
ข้อ  22 สำหรับกรรมการตำแหน่งอื่นๆ ให้มีหน้าที่ตามที่คณะกรรมการมูลนิธิกำหนดโดยทำเป็นคำสั่งระบุอำนาจหน้าที่ให้ชัดเจน
ข้อ  23 คณะกรรมการมูลนิธิมีสิทธิ์เข้าร่วมประชุมกรรมการ  หรืออนุกรรมการอื่นๆ  ของมูลนิธิได้


หมวดที่  7
อนุกรรมการ

ข้อ  24 คณะกรรมการมูลนิธิอาจแต่งตั้งหรือถอดถอนอนุกรรมการได้ตามความเหมาะสม  โดยจะแต่งตั้งให้เป็นอนุกรรมการประจำหรือเพื่อการใดเป็นกรณีพิเศษเฉพาะคราวก็ได้และในกรณีที่คณะกรรมการมูลนิธิไม่ได้แต่งตั้งประธานอนุกรรมการเลขานุการหรืออนุกรรมการในตำแหน่งอื่นไว้ก็ให้อนุกรรมการแต่งตั้งกันเองดำรงตำแหน่งดังกล่าวได้
ข้อ  25 อนุกรรมการอยู่ในตำแหน่งจนกว่าจะเสร็จงานที่ได้รับมอบหมายให้กระทำส่วนคณะอนุกรรมการประจำอยู่ในตำแหน่งตามเวลาที่คณะกรรมการมูลนิธิ  กำหนดซึ่งถ้ามิได้กำหนดไว้ก็ให้อยู่ในตำแหน่งได้เพียงเท่าวาระของคณะกรรมการมูลนิธิซึ่งเป็นผู้แต่งตั้งและอนุกรรมการที่พ้นจากตำแหน่งอาจได้รับการแต่งตั้งอีกได้
          25.1    อนุกรรมการมีหน้าที่ดำเนินการตามที่คณะกรรมการมูลนิธิมอบหมาย
          25.2    อนุกรรมการมีหน้าที่เสนอความคิดเห็นต่อคณะกรรมการมูลนิธิเกี่ยวกับงานที่ได้รับมอบหมาย


หมวดที่  8
การประชุมคณะกรรมการมูลนิธิ

ข้อ  26 คณะกรรมการมูลนิธิจะต้องจัดให้มีการประชุมสามัญประจำปีทุกๆ ปีภายในเดือนมีนาคม  และต้องมีคณะกรรมการมูลนิธิเข้าประชุมอย่างน้อยกึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมดจึงจะเป็นองค์ประชุม
ข้อ  27 การประชุมวิสามัญอาจมีได้ในเมื่อประธานกรรมการมูลนิธิหรือเมื่อคณะกรรมการมูลนิธิตั้งแต่  2  คนขึ้นไป  แสดงความประสงค์ไปยังประธานกรรมการมูลนิธิหรือผู้ทำการแทนขอให้มีการประชุม  ก็ให้เรียกประชุมวิสามัญได้
ข้อ  28 กำหนดการประชุม  และองค์ประชุมของคณะอนุกรรมการให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการมูลนิธิกำหนดไว้ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการประชุม  ให้คณะอนุกรรมการตกลงกันเองและในส่วนที่เกี่ยวข้องกับองค์ประชุม  ให้ใช้ข้อ  27  บังคับโดยอนุโลม
ข้อ  29 ในการประชุมคณะกรรมการมูลนิธิ  หรือคณะอนุกรรมการ  หากมิได้มีข้อบังคับกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น  มติของที่ประชุมให้ถือเอาคะแนนเสียงข้างมากในกรณีที่มีคะแนนเสียงเท่ากันให้ประธานในที่ประชุมเป็นผู้ชี้ขาดกิจการใดที่เป็นงานประจำหรือเป็นกิจการเล็กน้อยประธานกรรมการมูลนิธิมีอำนาจสั่งให้ใช้วิธีสอบถามมติทางหนังสือแทนการเรียกประชุมคณะกรรมการมูลนิธิ  แต่ประธานกรรมการมูลนิธิต้องรายงานต่อที่ประชุมคณะกรรมการมูลนิธิในคราวต่อไปถึงมติและกิจการที่ได้ดำเนินการไปตามมตินั้น  กิจการใดเป็นงานประจำหรือเป็นกิจการเล็กน้อยหรือไม่  ย่อมอยู่ในดุลพินิจของประธานกรรมการมูลนิธิ
ข้อ  30 ในการประชุมคณะกรรมการมูลนิธิหรือคณะอนุกรรมการ  ประธานกรรมการมูลนิธิ  หรือประธานที่ประชุมมีอำนาจเชิญหรืออนุญาตให้บุคคลที่เห็นสมควรเข้าร่วมประชุมในฐานะแขกผู้มีเกียรติหรือผู้สังเกตการณ์หรือเพื่อชี้แจง  หรือเพื่อให้คำปรึกษาแก่ที่ประชุมได้


หมวดที่  9
การเงิน

ข้อ  31 ประธานกรรมการมูลนิธิหรือรองประธานกรรมการมูลนิธิในกรณีทำหน้าที่แทนมีอำนาจสั่งจ่ายเงินได้คราวละไม่เกิน  50,000.-  บาท  (ห้าหมื่นบาทถ้วน)  ถ้าเกินกว่าจำนวนดังกล่าวต้องได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการมูลนิธิโดยเสียงข้างมากเว้นแต่กรณีจำเป็นและเร่งด่วนให้อยู่ในดุลพินิจของประธานกรรมการมูลนิธิที่จะอนุมัติให้จ่ายได้แล้วต้องรายงานให้คณะกรรมการมูลนิธิทราบในการประชุมคราวต่อไป
ข้อ  32 เหรัญญิกมีอำนาจเก็บรักษาเงินสดได้ครั้งละไม่เกิน  20,000.-  บาท  (สองหมื่นบาทถ้วน)
ข้อ  33 เงินสดของมูลนิธินำฝากไว้กับธนาคาร  หรือสถาบันการเงินอื่นใดที่รัฐบาลให้การค้ำประกันแล้วแต่คณะกรรมการมูลนิธิจะเห็นสมควร
ข้อ  34 การสั่งจ่ายเงินโดยเช็คหรือตั๋วสั่งจ่ายเงินจะต้องมีลายมือชื่อของประธานกรรมการมูลนิธิหรือผู้ทำการแทนกับเลขานุการหรือเหรัญญิกลงนามทุกครั้ง  จึงจะเบิกจ่ายได้
ข้อ  35 การใช้จ่ายเงินตามวัตถุประสงค์ของมูลนิธิของมูลนิธิรวมทั้งค่าใช้จ่ายประจำสำนักงานให้จ่ายเพียงดอกผลอันเกิดจากทรัพย์สินที่เป็นทุนเงินที่ผู้บริจาคมิได้แสดงเจตนาให้เป็นเงินสมทบทุนโดยเฉพาะและหรือรายได้อันเกิดจากการจัดกิจกรรมของมูลนิธิหรือเงินที่ผู้มีจิตศรัทธาบริจาคให้เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายตามวัตถุประสงค์
ข้อ  36 ให้คณะกรรมการมูลนิธิวางระเบียบเกี่ยวกับการเงินการบัญชีและทรัพย์สินของมูลนิธิ  ตลอดจนกำหนดอำนาจหน้าที่ต่างๆ เกี่ยวกับการรับและจ่ายเงินนอกเหนือจากที่กำหนดไว้ในข้อบังคับ
ข้อ  37 ให้คณะกรรมการมูลนิธิกำหนดรอบระยะเวลาบัญชี  และจัดทำรายงานสถานะการเงินของมูลนิธิในรอบระยะเวลาบัญชีที่ผ่านมาเสนอต่อที่ประชุมในการประชุมสามัญประจำปี


หมวดที่  10
การแก้ไขเพิ่มเติมข้อบังคับ

ข้อ  38 การแก้ไขเพิ่มเติมข้อบังคับจะกระทำได้  โดยเฉพาะที่ประชุมคณะกรรมการมูลนิธิซึ่งต้องมีกรรมการมูลนิธิเข้าประชุมไม่น้อยกว่าสามในสี่ของจำนวนกรรมการทั้งหมด  และการอนุมัติให้แก้ไขหรือเพิ่มเติมข้อบังคับต้องประกอบด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนกรรมการที่เข้าประชุม


หมวดที่  11
การเลิกมูลนิธิ

ข้อ  39 ถ้ามูลนิธิต้องเลิกล้มไปโดยมติของคณะกรรมการ  หรือโดยเหตุใดก็ตามทรัพย์สินทั้งหมดของมูลนิธิที่เหลืออยู่ให้ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของโรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์
ข้อ  40 การสิ้นสุดมูลนิธินั้น  นอกจากที่กฎหมายบัญญัติไว้แล้วให้มูลนิธิเป็นอันสิ้นสุดลงโดยมิต้องให้ศาลสั่งเลิกด้วยเหตุต่อไปนี้
          40.1    เมื่อมูลนิธิได้รับอนุญาตให้จดทะเบียนจัดตั้งเป็นนิติบุคคลแล้วไม่ได้รับทรัพย์สินตามคำมั่นเต็มจำนวน
          40.2    เมื่อกรรมการมูลนิธิจำนวนสองในสามมีมติให้ยกเลิก
          40.3    เมื่อมูลนิธิไม่อาจหากรรมการได้ครบตามจำนวนกรรมการที่กำหนดไว้ในข้อบังคับ
          40.4    เมื่อมูลนิธิไม่สามารถดำเนินการต่อไปได้ไม่ว่าด้วยเหตุผลใดๆ


หมวดที่  12
บทเบ็ดเตล็ด

ข้อ  41 การตีความในข้อบังคับของมูลนิธิ  หากเป็นที่สงสัยให้คณะกรรมการมูลนิธิโดยเสียงข้างมากของจำนวนกรรมการที่มีอยู่เป็นผู้ชี้ขาด
ข้อ  42 ให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยมูลนิธิมาใช้บังคับ  ในเมื่อข้อบังคับของมูลนิธิมิได้กำหนดไว้
ข้อ  43 มูลนิธิต้องไม่ดำเนินการหาผลประโยชน์มาแบ่งปันกัน  หรือเพื่อบุคคลใด  นอกจากเพื่อดำเนินการตามวัตถุประสงค์ของมูลนิธินั้นเอง
         
ลงชื่อ    จำลอง  รัตนพันธ์      ผู้จัดทำข้อบังคับ
       (นายจำลอง  รัตนพันธ์)  

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น